การหมั้นหมาย ของ วิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน

ในปี พ.ศ. 2448 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ได้เสด็จเยือนประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระราชปิตุลาของเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีได้พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์แห่งสเปนที่พระราชวังบัคกิ้งแฮม พระองค์ประทับอยู่ระหว่างกลางของสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราและเจ้าหญิงเฮเลนา พระขนิษฐาในองค์พระประมุขแห่งอังกฤษ ทันใดนั้นก็ได้ทรงสังเกตเห็นเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีและจึงตรัสถามเจ้าหญิงเฮเลนาว่าเจ้าหญิงที่มีเส้นพระเกศาเกือบจะสีขาวเป็นผู้ใด เมื่อเจ้าหญิงทรงรู้สึกว่ากษัตริย์แห่งสเปนกำลังทอดพระเนตรพระองค์ก็ทรงรู้สึกประหม่าเขินอาย ทุกพระองค์ล้วนทรงทราบว่าสมเด็จพระราชาธบิดีอัลฟอนโซทรงกำลังมองหาเจ้าสาวที่เหมาะกับตำแหน่งพระราชินีแห่งสเปนและหนึ่งในผู้ที่น่าได้รับเลือกมากที่สุดคือ เจ้าหญิงแพทริเซียแห่งคอนน็อต พระธิดาในเจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุคแห่งคอนน็อตและสแตรเธิร์น พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แต่ในตอนนี้เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีทรงทำให้พระองค์หันมาสนพระทัยแทนได้และเจ้าหญิงแพทริเซียมิได้ทรงทำให้องค์พระประมุขแห่งสเปนพอพระทัยสักเท่าใดนัก พระองค์ทรงสนพระทัยในเจ้าหญิงมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นการเกี้ยวพาราสีจึงเริ่มขึ้นและเมื่อพระองค์เสด็จกลับยังประเทศสเปนแล้วก็ยังคงทรงส่งไปรษณียบัตรมาหาเจ้าหญิงอยู่บ่อยครั้งและมีพระทัยจดจ่อกับเจ้าหญิงอย่างมาก สมเด็จพระราชินีมาเรีย คริสตินา พระบรมราชชนนีมิได้ทรงเห็นด้วยกับการเลือกว่าที่พระราชินีของพระองค์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตระกูลแบ็ตเต็นเบิร์กไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง อันเนื่องจากภูมิหลังอันคลุมเครือของพระมารดาในเจ้าชายเฮนรี่ และอีกส่วนหนึ่งมาจากพระองค์ทรงต้องการให้พระโอรสอภิเษกในพระราชวงศ์ของพระองค์เองคือ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจากออสเตรีย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีและพระองค์ทรงได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เจ้าหญิงทรงเป็นพาหะที่น่าเป็นไปได้ของโรคเฮโมฟีเลีย ที่เป็นโรคเกี่ยวกับพระโลหิตซึ่งถ่ายทอดมายังเชื้อสายบางพระองค์จากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ในความจริงแล้ว เจ้าชายเลโอโพลด์ พระอนุชาในเจ้าหญิงทรงเป็นโรคเฮโมฟีเลีย (ผู้แต่งบางท่านยังกล่าว่า เจ้าชายมอริส พระอนุชาพระองค์เล็กก็ทรงเป็นโรคฮีโมฟีเลียด้วยเช่นกัน) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ 50 เปอร์เซนต์ที่เจ้าหญิงจะทรงเป็นพาหะของโรคและถ้ากษัตริย์อัลฟอนโซอภิเษกสมรสกับพระองค์ พระราชโอรสและธิดาอาจทรงติดโรคมาด้วย แต่พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยกับภยันตรายครั้งนี้ และยังคงทรงตัดสินพระทัยที่จะอภิเษกกับเจ้าหญิงอยู่ดี

หลังจากช่วงหนึ่งปีของข่าวลือเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งสเปนจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงองค์ใด ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2449 สมเด็จพระราชินีมาเรีย คริสตินา ทรงยอมรับการเลือกว่าที่พระราชินีของพระโอรสและมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงเบียทริซเกี่ยวกับความรักของพระโอรสที่มีต่อเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีและการขอติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 อย่างไม่เป็นทางการ ในหลายวันต่อมาที่ปราสาทวินด์เซอร์ พระองค์ทรงแสดงความปีติยินดีกับพระราชนัดดาในเรื่องการหมั้นหมายในอนาคต

เจ้าหญิงเบียทริซและพระธิดาเสด็จถึงยังเมืองบิอาร์ริตในวันที่ 22 มกราคมและประทับอยู่ในตำหนักมอริสโกต์ ซึ่งกษัตริย์อัลฟอนโซได้เสด็จมาพบในอีกหลายวันต่อมา และในที่นี้พระองค์และอนาคตเจ้าสาวของพระองค์ได้ทรงอยู่ในช่วงเวลาสามวันแห่งความรัก หลังจากนั้นก็ทรงนำเจ้าหญิงและพระชนนีไปยังเมืองซานเซบาสเตียนเพื่อพบกับสมเด็จพระราชินีมาเรีย คริสตินา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ กษ้ตริย์อัลฟอนโซก็เสด็จออกจากเมืองซานเซบาสเตียนเพื่อไปยังกรุงมาดริดและเจ้าหญิงกับพระชนนีเสด็จไปยังเมืองแวร์ซายส์ ซึ่งเป็นที่ทรงรับการถวายคำสอนตามแบบคาทอลิก ในฐานะที่จะทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสเปนในอนาคต พระองค์จะต้องทรงเปลี่ยนจากศานาคริสต์นิกายลูเธอรันมาเป็นนิกายโรมันคาทอลิก การรับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีเข้ามาในนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2449 ณ พระราชวังมิรามาร์ เมืองซานเซบาสเตียน

เงื่อนไขในการอภิเษกสมรสได้ทำออกมาเป็นข้อตกลงสองแบบคือ สนธิสัญญามหาชนและการจัดทำเอกสารสัญญาแบบไม่เป็นทางการ สนธิสัญญาได้จัดทำขึ้นระหว่างประเทศสเปนกับสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2449กรุงลอนดอน โดยผู้มีอำนาจเต็มจากทั้งสองประเทศคือ ดอน ลุยส์ โปโล เด แบร์นาเบ เอกอัครราชทูตสเปนประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ และ เซอร์ เอ็ดเวิร์ด เกรย์ บารอนเน็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ การอนุมัติสนธิสัญญาได้แลกเปลี่ยนกันในวันที่ 23 ของเดือนเดียวกัน นอกจากเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ในสนธิสัญญายังกำหนดข้อต่อรองไว้ดังนี้

ขอให้ทุกคนที่ร่วมอยู่ในการทำสัญญาแจ้งแก่ใจว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่สิบสาม กษัตริย์แห่งสเปนทรงเห็นสมควรที่จะประกาศพระราชประสงค์ในการเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจินี จูเลีย เอนาแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก พระภาติยะในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ และดินแดนในปกครองของอังกฤษโพ้นทะเลต่างๆ จักรพรรดิแห่งอินเดีย และพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเบียทริซ แมรี่ วิกตอเรีย ฟีโอดอร่า (เจ้าหญิงเฮนรี่แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก)... มาตราที่ 1 เป็นการสรุปและเห็นชอบแล้วว่าการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่สิบสามที่ได้กล่าวไปแล้วกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนาแห่งแบ็ตเต็นเบิร์กที่ได้กล่าวไปแล้วจะประกอบพิธีทางศาสนาด้วยพระองค์เองที่กรุงมาดริดทันทีที่การอภิเษกดังกล่าวเสร็จสิ้นอย่างราบรื่นแล้ว มาตราที่ 2 สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่สิบสามที่ได้กล่าวไปแล้วทรงรับปากที่จะทำให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนาแห่งแบ็ตเต็นเบิร์กที่ได้กล่าวไปแล้วแน่พระทัยถึงวันอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดี และจะทรงได้รับเบี้ยหวัดประจำปีจำนวนสีแสนห้าหมื่นเปเซตา ตลอดระยะเวลาของการอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่สิบสามที่ได้กล่าวไปแล้วยังทรงรับปากเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนาแห่งแบ็ตเต็นเบิร์กที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าว่าในกรณีที่ทรงเป็นม่าย เพื่อรับรองเจ้าหญิงจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์ จะทรงได้รับเบี้ยหวัดประจำปีจำนวนสองแสนห้าหมื่นเปเซตา ยกเว้นหรือจนกว่าเจ้าหญิงจะทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสครั้งที่สอง เงินเบี้ยหวัดทั้งสองได้รับการลงมติจากรัฐสภาสเปนเรียบร้อยแล้ว ข้อตกลงลับต่างๆ ที่จะทำจากแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในสนธิสัญญาคนละฉบับ ซึ่งอย่างไรก็ดีจะถือว่าเป็นการสร้างส่วนสำคัญหนึ่งในสนธิสัญญาฉบับปัจจุบัน มาตราที่ 3 คณะการร่างสัญญาระดับสูงจดบันทึกเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารที่เหมาะสมของกฎหมายแห่งอังกฤษที่ว่าเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนา ทรงสละพระราชสิทธิตกทอดทั้งหมดในการสืบราชบัลลังก์และรัฐบาลแห่งบริเตนใหญ่...[1]

การอ้างอิงถึงการสละพระราชสิทธิในการสืบราชสมบัติอังกฤษของเจ้าหญิงในสนธิสัญญาไม่ได้สะท้อนให้เห็นทั้งคำติเตียนของรัฐบาลอังกฤษต่อความเป็นพันธมิตรและการสละพระราชสิทธิ์ใดๆ ที่กระทำโดยเจ้าหญิงเลย แต่มันค่องข้างจะเป็นการรับรู้ในความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนว่าการอภิเษกสมรสกับชาวคาทอลิก ทำให้เจ้าหญิงทรงสูญเสียสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติการสืบราชสมบัติของอังกฤษ การตัดสิทธิเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลและมีขอบเขต กล่าวคือ เชื้อสายของเจ้าหญิงคนใดที่ไม่ใช่โรมันคาทอลิกจะยังคงอยู่ในสายลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ

สนธิสัญญาข้างต้นมิได้เป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบของพระราชบัญญัติการอภิเษกสมรสในพระราชวงศ์ปี พ.ศ. 2315 (Royal Marriages Act of 1772) ที่กำหนดว่าเชื้อสายในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากองค์พระประมุขแห่งอังกฤษก่อนหน้าที่จะอภิเษกสมรสด้วยพระบรมราชโองการที่พระราชทานโดยคำแนะนำจากองคมนตรี (Order-in-Council) ในขณะที่มีข้อยกเว้นบางประการในพระราชบัญญัติเกิดขึ้นกับเชื้อสายในเจ้าหญิงต่างๆ ที่อภิเษก "เข้าไปยังราชวงศ์ต่างประเทศ" พระชนกในเจ้าหญิงก็ได้ทรงแปลงสัญชาติเป็นชาวอังกฤษมาก่อนการอภิเษกสมรสแล้ว แต่กระนั้นความห่วงใยในปฏิกิริยาต่อการอภิเษกสมรสของชาวโปรเตสแตนต์กระตุ้นให้รัฐบาลอังกฤษหลีกเลี่ยงการขอความเห็นชอบจากองค์พระประมุขต่อการอภิเษกสมรสในคณะองคมนตรีในพระองค์ การละเว้นเช่นนี้จะทำให้การอภิเษกสมรสไม่มีผลตามกฎหมายในประเทศอังกฤษ แต่รัฐบาลยึดหลักที่ว่าเจ้าหญิงมิได้ทรงผูกติดกับพระราชบัญญัติการอภิเษกในพระราชวงศ์ ซึ่งอิงอยู่บนการใช้กฎหมายในการสร้าง"ครอบครัวต่างประเทศ"แบบละมุนละม่อมอย่างชัดเจน เนื่องจากพระชนกในเจ้าชายเฮนรี่ทรงเป็นชาวเยอรมันและพระชนนีเป็นชาวโปแลนด์

ใกล้เคียง